วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2560

ตะไบ (Files)

หลักการ
           งานตะไบเป็นกระบวนการทำงานขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับช่างอุตสาหกรรม เพื่อการปรับลดขนาด ปรับผิวชิ้นงานให้ราบเรียบ สวยงาม หรือลบเหลี่ยมมุม คมต่างๆที่ขอบชิ้นงาน เพื่อนำไประกอบชิ้นงานเข้าด้วยกัน สามารถใช้กับงานโลหะทุกชนิด โดยคมตะไบจะขูดเอาเศษโลหะที่ผิวชิ้นงานออกทีละน้อย คมตัดของตะไบจะเป็นลักษณะคมตัดขนาดเล็กเรียงต่อกันเกิดเป็นคมตัดจำนวนมาก มีลักษณะคล้ายฟันเลื่อยที่มีความหนามาก ตะไบแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันที่รูปแบบการเรียงตัวของซี่ฟันบนหน้าตะไบ การเลือกใช้ตะไบขึ้นกับลักษณะของชิ้นงาน และผิวของชิ้นงาน


รูปแสดงลักษณะการทำงานตะไบ

            ตะไบ เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐาน โดยการนำไปขึ้นรูปแล้วนำไปชุบแข็งที่ผิวหน้าของตะไบจะมีคมตัดที่เรียกว่า ฟันตะไบ โดยที่ฟันตะไบเหล่านี้จะเรียงเป็นแถวขนานกันไปตลอดความยาวก้านของตะไบ และแถวของตะไบนี้จะทำมุมเอียงกับขอบตะไบ

ส่วนประกอบของตะไบ

1. หน้าตะไบ (Face) ประกอบด้วยคมตัดของตะไบเรียงเป็นแถวซ้อนกันไปตลอดความยาวของหน้าตะไบ เพื่อตัด เฉือน วัสดุ
2. ปลายตะไบ (Point) อยู่ด้านบน หรือส่วนปลายสุดของตะไบ สำหรับใช้มือข้างที่ไม่ถนัดประคองหรือออกแรงกดเพื่อให้คมตะไบกินเนื้อวัสดุงานมากน้อยตามต้องการ
3. สันตะไบ (Edge) อยู่บริเวณด้านข้างของตะไบ ส่วนมากจะใช้ในการเปิดผิวหน้างาน
4. กั่นตะไบ (Tang) อยู่บริเวณด้านล่างของตะไบ มีลักษณะเรียว 
จะถูกยึดอยู่ภายในด้ามตะไบขนาดใช้งานเพื่อจะยึดกับด้าม
5. ด้ามตะไบ (Handle) เป็นส่วนประกอบนอกเหนือจากตัวตะไบ ทำจากไม้ หรือพลาสติก เพื่อป้องกันอันตรายขณะทำงาน
  ในการปฏิบัติงานด้ามตะไบที่ดีควรมีลักษณะกลมมน ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้นานโดยไม่รู้สึกเจ็บมือ
6. ขอบตะไบ (Edge) เป็นความหนาของตะไบที่ขอบของตะไบจะมี 2 ชนิด
            - ขอบข้างเรียบ ใช้สำหรับตะไบงานที่ไม่ต้องการให้บอบข้างของตะไบตัดเฉือนเกินเนื้องานขณะที่ปฏิบัติงานตะไบ
            ขอบข้างมีคม มีลักษณะเป็นฟันหยาบๆ สำหรับขูดผิวงาน ขูดสนิมหรือสิ่งสกปรกที่ผิวหน้างานก่อนลงมือปฏิบัติงาน






รูปแสดงส่วนประกอบและลักษณะของตะไบโดยทั่วไป

            ส่วนลำตัวของตะไบจะมีลักษณะเป็นซี่ฟันอยู่เป็นจำนวนมาก ก้านตะไบจะถูกประกอบเข้ากับตัวด้ามตะไบ เมื่อนำส่วนนี้ไปขยายจะเห็นแนวตัดและคมตัดขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การเรียงตัวของคมตัดจะต่างกันออกไป ดังนี้

ลักษณะของฟันตะไบ

1. คมตัดเดี่ยว (Single-cut)  ตะไบชนิดนี้จะมีฟัน 1ชุด โดยฟันจะเอียงลาดทำมุมประมาณ 65 องศา เพื่อให้เศษโลหะที่เกิดขึ้นจากการตะไบไหลออกได้สะดวก เหมาะสำหรับใช้ตะไบปรับผิวในชั้นสุดท้าย เป็นการตะไบละเอียดงานเหล็ก

       

                   
รูปแสดงฟันตะไบชนิดคมตัดเดี่ยวและทิศทางการไหลของเศษโลหะ

2. คมตัดคู่ (Double-cut) ตะไบชนิดนี้จะมีฟัน 2 ชุด  ร่องฟันจะตัดกัน ปลายคมตัดจะมียอดแหลม เพื่อเพิ่มการกินเนื้องานให้มากขึ้น และย่อยเศษโลหะที่เกิดขึ้นจากการตะไบให้เล็กลง โดยฟันชุดที่หนึ่งจะเอียงทำมุมประมาณ  65 องศาและฟันชุดที่สองจะเอียงทำมุมประมาณ 40 องศา ตะไบชนิดนี้เหมาะสำหรับตะไบเพื่อลดขนาดของงานวัสดุแข็ง เช่น เหล็กกล้า เหล็กหล่อ

              
         

 รูปแสดงฟันตะไบแบบคมตัดคู่



รูปเปรียบเทียบฟันตะไบระหว่างแบบคมตัดเดี่ยวและคมตัดคู่

3. คมตัดโค้ง (Curved-cut) ลักษณะคมตัดโค้งเป็นรัศมี ทำให้สามารถคายเศษโลหะออกได้ทั้งสองข้างของคมตะไบ ไหลออกได้สะดวกและเร็วยิ่งขึ้น เศษวัสดุจะไม่ติดร่องฟัน
            
              
รูปแสดงฟันตะไบแบบคมตัดโค้ง



4. คมตัดหยาบ (Rasp-cut) ลักษณะของฟันจะเป็นยอดแหลมคล้ายฟันของเครื่องมือช่างที่สำหรับตกแต่งไม้ ซึ่งเรียกว่า บุ้ง  ใช้ทำเป็นรูปร่างของงานที่ต้องการในเบื้องต้น


รูปแสดงลักษณะฟันตะไบแบบคมตัดหยาบ

             นอกจากลักษณะของฟันตะไบที่แบ่งออกเป็น 4 แบบแล้ว ยังสามารถแบ่งความหยาบละเอียด หรือระยะห่างระหว่างแถวของฟันตะไบออกได้อีก 6 แบบ คือ หยาบมาก(Rough) หยาบ(Coarse) หยาบปานกลาง(Bastard) ละเอียดปานกลาง(Second cut ) ละเอียด (Smooth) และ ละเอียดมาก (Dead Smooth)
             ตะไบที่นิยมใช้ส่วนมาก จะเป็นตะไบแบบฟันหยาบปานกลาง ตะไบแบบฟันละเอียดปานกลาง และตะไบแบบฟันละเอียด สำหรับตะไบแบบฟันหยาบมาก แบบฟันหยาบและฟันละเอียดมาก จะใช้ในงานเฉพาะอย่างเท่านั้น

ชนิดของตะไบ แบ่งตามรูปร่างและลักษณะการใช้งาน 12 ชนิด ดังนี้

1. ตะไบช่างกุญแจ (warding File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบร่องฟันกุญแจ
2. ตะไบมิล (Mill File) ฟันของตะไบเป็นแบบลายตัดเดี่ยว นิยมใช้ในงานตะไบแต่งร่องฟันของใบเลื่อยวงเดือน งานตะไบชิ้นงานบนเครื่องกลึง งานตะไบแบบถู และงานตะไบตกแต่งผิวงานที่ทำจากทองเหลืองและบรอนซ์
3. ตะไบแบน (Flat File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้กับงานทั่วๆไป
4. ตะไบมือ (Hand File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในการตะไบตกแต่งชิ้นงานที่มีผิวหน้าแบบราบ นอกจากนี้ยังใช้ในงานที่สามารถใช้ตะไบแบนได้
5. ตะไบหน้าแคบ (Pillar File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ ตะไบชนิดนี้จะมีขนาดความกว้างน้อยกว่าตะไบมือ แต่มีความหนามากกว่า นิยมใช้ในงานตะไบที่แคบ ๆ เช่น ในร่องลิ่ม ร่องบนชิ้นงานต่างๆ เป็นต้น
6. ตะไบสี่เหลี่ยม (Square File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบชิ้นงานที่เป็นมุมฉาก นอกจากนี้ยังใช้ในการตะไบขยายขนาดร่อง หรือ รูชิ้นงานที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น ร่องลิ่ม เป็นต้น
7. ตะไบกลม (Round File) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตะไบหางหนู (Rat Tail File) ฟันของตะไบมีทั้งแบบลายตัดเดี่ยวและลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบส่วนโค้งของชิ้นงาน ใช้ตะไบขยายขนานรูกลม และใช้ตะไบร่องโค้ง
8. ตะไบท้องปลิง (Half Round File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้งานผิวงานที่เป็นโค้ง
9. ตะไบสามเหลี่ยม (Three Square File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบมุมของชิ้นงานที่มีมุมน้อยกว่า 90 องศา
10. ตะไบคมมีด (Knife File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบร่องงานที่มีขนาดแคบๆ ลักษณะตะไบปลายมีด
11. ตะไบช่างทอง (Jeweler’s File) เป็นตะไบขนาดเล็ก ใช้สำหรับงานที่ต้องการความละเอียดมากๆ ตะไบชนิดนี้มีขนาดความยาวตั้งแต่ 4-6 นิ้ว (100-150 มม.) ตะไบช่างทองนี้ปกติจะทำออกมาเป็นชุด ซึ่งประกอบด้วยตะไบรูปร่างต่างๆ
12. ตะไบปลายงอ (Liffler’s File) ตะไบชนิดนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในงานทำแม่พิมพ์โลหะ (Tool and Die) และงานทำแม่พิมพ์พลาสติก (Mold) โดยเฉพาะ


รูปแสดงตะไบชนิดต่างๆ


รูปแสดงตะไบชนิดต่างและลักษณะชิ้นงานที่เหมาะสมกับชนิดของตะไบ

การใส่และถอดด้ามตะไบ

การใส่ด้ามตะไบ

               1. เจาะด้ามตะไบเป็นสามส่วนด้วยดอกสว่าน ขนาด
               2. สวมกั่นตะไบเข้าด้ามให้แน่นพอสมควร
               3. ใช้ค้อนตอกดังภาพ


รูปแสดงวิธีการใส่ด้ามตะไบที่ถูกต้อง

การถอดด้ามตะไบ  ใช้มือจับตะไบให้แน่นแล้วค่อยๆ กระแทกกับปากกา โดยการดึงออกดังภาพ
           
      รูปแสดงการถอดด้ามตะไบที่ถูกต้อง       
               
          
  

                                    

ข้อควรระวังและการบำรุงรักษาสำหรับการใช้ตะไบ

1. อย่าใช้ตะไบใหม่ในการปาดพวกตะกรัน (Scale) ออกจากผิวโลหะ
2. อย่าให้ตะไบเปื้อนน้ำมันหรือจารบี จะทำให้เกิดการลื่น และทำความสะอาดตะไบยาก
3. อย่าเก็บตะไบไว้รวมกับเครื่องมืออื่นๆ ควรแยกเก็บให้ห่างกัน เพราะฟันตะไบมีความคม
4. รักษาตะไบให้สะอาดอยู่เสมอ โดยใช้แปรงลวดหรือทองเหลือง แปรงเศษโลหะที่ติดอยู่ในร่องฟันออกทุกครั้งหลังใช้งาน
5. อย่าใช้ตะไบตี งัดหรือตอกแทนค้อน เพราะตะไบมีความแข็งเฉพาะผิวนอก แต่เปราะและห้ามใช้ค้อนตอกบนตะไบ
6. อย่าใช้ตะไบเคาะบนโลหะ เพราะจะทำให้ฟันเสียได้
7. อย่าใช้ตะไบกับโลหะที่มีความแข็งมากกว่าฟันของตะไบ




รูปแสดงอันตรายจากการใช้ตะไบที่ไม่มีด้าม


                                            

การทำความสะอาดตะไบ

           เมื่อเราทำความสะอาดตะไบชิ้นงานระยะหนึ่งจะมีเศษโลหะติดตะไบ ทำให้ผิวงานเป็นรอย ขีดข่วน ดังนั้นจึงต้องขจัดเศษโลหะนั้นออก โดยเฉพาะตะไบละเอียดจำเป็นต้องทำความสะอาดบ่อยๆ วิธีทำความสะอาดตะไบ โดยปกติจะใช้แปรงปัดตะไบถูปัดไปตามร่องฟันตะไบ การใช้ตะไบนั้นจะต้องมีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้นานที่สุด การทำความสะอาดตะไบ ดังนี้

1. การทำความสะอาดด้วยแปรงเหล็ก เศษโลหะหรือเศษวัสดุที่ติดอยู่ตามร่องฟันตะไบสามารถกำจัดออกไปได้ โดยการใช้แปรงเหล็กถูตามทิศทางร่องฟันตะไบ ดังรูป
2. การทำความสะอาดตะไบด้วยแท่งทองเหลืองในกรณีที่เศษวัสดุติดฝังแน่นอยู่ในร่องฟันตะไบ ไม่สามารถขัดออกด้วยแปรงเหล็ก จำเป็นต้องใช้แท่งทองเหลืองปลายแบนแซะออกในแนวร่องคมตัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตะไบ (Files) หลักการ             งานตะไบเป็นกระบวนการทำงานขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับช่างอุตสาหกรรม เพื่อการ...